จะทำอย่างไรเมื่อโลกออนไลน์ไม่อยู่ข้างเดียวกับเรา
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ลุกลามไปทั้งโลกออนไลน์ ไม่ต่างจากเปลวเพลิงที่ลุกไหม้สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินในเหตุการณ์ไฟไหม้สำเพ็งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา วันนี้เรียลสมาร์ทมาพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ คุณพงษ์ทิพย์ เทศะภู เพื่อร่วมถกในประเด็นนี้ และมีคำแนะนำสำหรับผู้บริหารอย่างเช่นเคย
จากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หลากหลาย ทั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ที่อยู่อาศัยรวมถึงธุรกิจที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น และที่สำคัญคือหน่วยงานที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้นั่นคือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
โดยเหตุไฟไหม้ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อสารมวลชนจำนวนมาก รวมถึงประชากรชาวเน็ตที่อยู่และไม่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ก็เปิดฉากวิเคราะห์วิจารณ์ไปตามความคิดความเข้าใจของแต่ละบุคคลกันอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องสภาพของหม้อแปลงไฟฟ้า การบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้
หลายหน่วยงานออกมาให้ข่าวเพื่อจับจองพื้นที่สื่อ มีการสื่อสารอยู่ตลอดเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในวิกฤตนี้แบบไหน อย่างไรบ้าง แต่น่าเสียดายที่การไฟฟ้านครหลวงพลาดการช่วงชิงโอกาสในช่วงเวลาวิกฤตทั้งที่ดูเหมือนจะเป็นหน่วยงานที่ถูกวิพากษ์อย่างออกรสในโลกโซเชียล โอกาสที่ว่านั้นสำหรับการไฟฟ้านครหลวงก็คือ การใช้จังหวะที่มีสื่อจำนวนมากมารวมตัวกันอยู่ ชี้แจงข้อมูลที่ต้องการนำเสนอรวมถึงแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่ผู้แทนองค์กรสามารถใช้โอกาสนี้สื่อสารเชิงรุกในเรื่องที่ต้องการให้กับสังคมได้โดยตรง อันเป็นวิธีการที่ดีกว่าการตั้งรับรอตอบคำถามจากผู้สื่อข่าวที่อาจจะทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกนำเสนอไม่ตรงกับความต้องการสื่อสารของหน่วยงานจนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรได้
คำแนะนำสำหรับผู้บริหารว่า สิ่งที่องค์กรควรตระเตรียมไว้หากเกิดภาวะวิกฤตคือ
1. แผนบริหารจัดการวิกฤต
2. แผนการสื่อสาร และตัวแทนองค์กร (spokesperson) ในภาวะวิกฤต
เพื่อที่ว่า ในวันที่โลกออนไลน์ไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับเรา เรายังมีแผนรับมือและสามารถบริหารจัดการกู้ภาพลักษณ์ขององค์กรได้อย่างทันท่วงที