Skip links

Data Driven คืออะไร? และสร้างอย่างไรให้เหมาะกับแต่ละองค์กร

ปัจจุบันโลกของเรากลายเป็นโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผันผวน หรือ ที่หลายๆคนบอกว่าเรากำลังเข้าสู่ยุค VUCA และด้วยความไม่แน่นอนเหล่านี้สิ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากนั่นก็คือ ข้อมูล หรือ Data ที่เรากำลังพูดถึง สร้าง และ ใช้งาน กันในทุกๆมิติของการใช้ชีวิต การเติบโตของ Data นั้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะในมุมมองของปริมาณ หรือ มูลค่า ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่ามูลค่าของตลาด Big Data อาจสูงถึงเกือบ 300,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2026

ด้วย 2 ปัจจัยที่กล่าวไปไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอน ความรวดเร็ว และ ข้อมูล ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงหรือหายไปเลย ดังนั้นเราจึงต้องการกระบวนการคิดและตัดสินใจที่แม่นยำมากขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูลทั้งหมดที่มี หรือ ที่เรียกกันว่า Data Driven ที่จะแตกต่างจากการตัดสินใจด้วยความรู้สึก หรือ Gut Feelings ที่อาจมีความไม่แน่นอนหรือมีอคติส่วนตัวมาเกี่ยวข้องมากเกินไป นอกจากนั้น Data Driven ยังแตกออกไปอีกหลากหลายคำ และ หลากหลายการใช้งานมาก ไม่ว่าจะเป็น Data Driven Marketing , Data Driven Business , Data Driven Organization , Data Driven Decision Making หรือ อื่นๆอีกมากมาย และ ในแต่ละคำหรือหัวข้อก็ล้วนมีความน่าสนใจแตกต่างกันไป ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำเกี่ยวกับ องค์ประกอบพื้นฐาน ประโยชน์ และ อนาคตของ Data Driven ในภาพรวมก่อนและผู้เขียนมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อท่านผู้อ่าน อ่านบทความนี้จนจบจะเข้าใจถึงความสำคัญ และ การประยุกต์ใช้ Data Driven อย่างเหมาะสม ในองค์กรของท่านได้อย่างแน่นอน

เลือกอ่านตามหัวข้อ

Data Driven คืออะไร?

ประโยชน์ของ Data Driven

องค์ประกอบที่สำคัญของ Data Driven

ขั้นตอนการสร้าง Data Driven ให้กับองค์กรของคุณ

อนาคตของ Data Driven

สรุป

Data Driven คืออะไร?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นบ้างแล้ว Data Driven นั้นเป็นกระบวนการว่าด้วยการทำหรือตัดสินใจด้วยการอ้างอิงข้อมูลเป็นหลัก ทำให้เราได้การตัดสินใจที่ดีขึ้น หรือ ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้นนั่นเอง โดยที่กระบวนการทำ Data Driven ที่ถูกต้องนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ผลลัพธ์ในปัจจุบันดีขึ้นแต่ยังสามารถคาดการณ์อนาคตเช่น การทำ Trend Forecasting จากข้อมูลในอดีตได้อีกด้วย ส่วนในการใช้งานจริงนั้นก็จะแตกต่างกันไปว่าเราจะใช้แนวคิดนี้กับเนื้องานในส่วนไหน อาจจะเป็นแผนงานที่ทำงานด้วยข้อมูลก็อาจจะเรียกว่า Data Driven Strategies หรือ หากในกรณีของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ตัดสินใจด้วยข้อมูลเป็นหลักก็อาจจะเรียกว่า Data Driven Culture ได้นั่นเอง

ประโยชน์ของ Data Driven

จะเห็นได้ว่าจากที่กล่าวไปแนวคิดการทำ Data Driven สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ในหลากหลายวิธี ทำให้เกิดประโยชน์และสร้างคุณค่าแตกต่างกันไปตามการประยุกต์ใช้ แต่ผู้เขียนจะขออนุญาตแนะนำ 3 ประโยชน์ของ Data Driven ที่ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในรูปแบบไหนก็จะได้รับประโยชน์นี้ทั้งสิ้น

1.ลดอคติจากการตัดสินใจของมนุษย์ –  ปกติแล้วความคิดเห็นของคนหลายๆคนต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะแตกต่างกันออกไปเนื่องจากการที่เราจะตัดสินใจ คิด หรือ ทำอะไรสักอย่างนึงนั้นจะต้องถูกกลั่นกรองจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคน หรือที่เรียกว่า Field Of Experiences ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่หากเรามีข้อมูลสำหรับช่วยในการตัดสินใจ หรือ เป็นตัวชี้วัดการตัดสินใจ จะทำให้คนทุกคนไม่จำเป็นจะต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองมาร่วมตัดสินใจ ทำให้สามารถลดอคติในการตัดสินใจออกไปได้

2.ลดเวลาในการตัดสินใจ – เนื่องจากว่าการมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจแล้วนั้น ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพิ่มเติมหรือหาข้อมูลไปเรื่อยๆจนกว่าจะเจอคำตอบที่ต้องการ แต่จะเป็นการแสดงผลของข้อมูลเองที่จะบอกว่าควรตัดสินใจอย่างไร ดังนั้นหากมีการวางแผนการทำ Data Driven ที่ละเอียดรอบครอบมีข้อมูลครบครันแล้วก็จะสามารถลดเวลาในการตัดสินใจได้แน่นอน

3.มีแนวโน้มจะคาดการณ์ Trend ในอนาคตได้ – เพราะการทำ Data Driven นั้นโดยทั่วไปจำเป็นจะต้องเก็บข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่เป็นระบบระเบียบสำหรับการนำไปใช้งานต่อในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็น Data Analysis หรือ Data Visualization ซึ่งเมื่อรูปแบบของข้อมูลถูกเก็บอยู่ในลักษณะเหล่านี้แล้วก็มักจะสามารถนำไปใช้ในงานของการทำ Predict หรือ คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ไม่ยากนัก

องค์ประกอบที่สำคัญของ Data Driven

จริงๆแล้วองค์ประกอบของ Data Driven มีอยู่ค่อนข้างหลากหลาย และ แตกต่างแยกกันไปในการใช้งานรูปแบบต่างๆ แต่โดยหลักการแล้วจะมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

1.การเก็บ Data และนำไปวิเคราะห์ต่อ – เพราะด้วยตัวแนวคิดและวิธีการของการทำ Data Driven คือการดำเนินการต่างๆด้วยการใช้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความแม่นยำสูงสุด แต่สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างมากคือ หากว่าข้อมูลที่นำมาเป็นสารตั้งต้นนั้นไม่มีความแม่นยำก็จะทำให้เกิดโอกาสผิดพลาดอย่างสูงในการตัดสินใจเช่นเดียวกับการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อหากถูกวิเคราะห์ด้วยกระบวนการที่ผิดพลาดก็มีแนวโน้มจะทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเก็บและวิเคราะห์ Data ที่ถูกต้องนับว่าเป็นแกนที่สำคัญที่สุดในการทำ Data Driven ในทุกๆมิติเลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการทำ Data Driven Marketing แต่ข้อมูลยอดขายดันกลายเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด และทีมงาน Data Analyst นำข้อมูลชุดนี้ไปสร้าง Model สำหรับการคาดการณ์ยอดขาย ย่อมทำให้ข้อมูลที่ถูกคาดการณ์ออกมาเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดไปโดยสิ้นเชิงต่อให้ Model จะแม่นยำแค่ไหนก็ตาม

2.การใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ – แน่นอนว่าในหลายๆองค์กรพยายามจะทำเรื่องของ Data Driven กันอย่างจริงจัง ผ่านการเก็บ Data และ นำไปวิเคราะห์ต่ออย่างถูกต้อง แต่ในการตัดสินใจท้ายสุดกลับตัดสินใจด้วย Gut Feelings หรือ ความรู้สึกเหมือนที่เคยทำมา ด้วยการตัดสินใจรูปแบบนี้จะทำให้ Data Driven ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเป็นเพียงการใช้ความรู้สึกเหมือนปกติเท่านั้น ดังนั้นในการที่จะสร้างองค์ประกอบสำคัญนี้ได้อาจจะต้องสร้าง Data Driven Culture ขึ้นมาในองค์กรด้วยเช่นกัน

3.สร้าง Data Driven Strategies และ Data Driven Process – การสร้าง Data Driven Process นั้นนับเป็นเรื่องที่สำคัญและดีเป็นอย่างมากในการทำให้ Data Driven ที่เกิดขึ้นจริง ตามที่ผมกล่าวไปในองค์ประกอบที่ 2 จะเห็นได้ว่าสุดท้ายแล้วการทำให้เกิด Data Driven อย่างแท้จริง จำเป็นจะต้องให้น้ำหนักอย่างมากใน Action สุดท้ายนั่นก็คือ ในการตัดสินใจด้วยข้อมูล หรือที่เรียกว่า Data Driven Decision Making ซึ่งหากเป็นในบุคคลอาจจะมีการบังคับตัวเองได้ไม่ยากนัก แต่ในลักษณะของการบริหารองค์กรนั้น ถ้าหากไม่มี Data Driven Process จะเป็นเรื่องยากมากที่จะปรับคนทั้งองค์กรให้มาดำเนินงานในลักษณะของ Data Driven เพราะหลายๆคนยังจะติดความเคยชินของการตัดสินใจด้วย Gut Feelings อยู่ ดังนั้นการสร้าง Workflow หรือ ออกแบบ Process ให้ทุกคนในองค์กรเกิด Data Driven ในทุกช่วงของการทำงานจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากนั่นเอง เพราะถึงแม้ว่าตัวบุคคลจะพยายามตัดสินใจหรือดำเนินการด้วยความรู้สึกเหมือนที่เคย แต่จะถูกระบบระเบียบที่องค์กรออกแบบไว้จนต้องกลับมาดำเนินงานด้วยข้อมูลนั่นเอง

ขั้นตอนการสร้าง Data Driven ให้กับองค์กรของคุณ

ขั้นตอนการสร้าง Data Driven ให้กับองค์กร หรือ ที่เรียกว่า Data Driven Organization นั้นมีลายระเอียดยิบย่อย และ Framework ให้เลือกใช้งานอยู่อีกมาก แต่ผู้เขียนจะขอแนะนำขั้นตอนอย่างง่ายที่สุดเพื่อผู้อ่านจะได้สามารถเริ่มต้นและเข้าใจได้ง่ายที่สุด โดยขั้นตอนทั้งหมดจะมีอยู่ 4 ขั้นตอนดังนี้

1.วิเคราะห์และจำแนกว่าข้อมูลอะไรที่เกี่ยวกับธุรกิจและองค์กรของเรา – จริงอยู่ที่ข้อมูลนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆและการที่องค์กรเก็บข้อมูลได้เยอะๆดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาตามมาด้วยก็คือ แล้วในฐานะองค์กรจะเลือกข้อมูลชุดไหนมาใช้ในการทำ Data Driven เนื่องจากว่าการที่เรามีข้อมูลที่เยอะแต่ไม่ได้เกี่ยวของอะไรกับธุรกิจของเราเลยนั้นในการทำงานจริงอาจจะกระทบไปถึงต้นทุนในการเก็บและวิเคราะห์แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย

2.ลงทุนในเครื่องมือที่เหมาะสม – เครื่องมือในการเก็บ Data นั้นมีอยู่หลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่การหาข้อมูลเข้ามาจากช่องทางต่างๆเช่น POS, การทำ Research, Social Listening และอื่นๆอีกมากมาย หรือ จะเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลเช่น CRM, CDP, Database ต่างๆ เครื่องมือเหล่านี้ก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจซึ่งไม่ได้มีกฏเกณฑ์หรือข้อบังคับแต่อย่างใดว่า แต่ละบริษัทต้องใช้เครื่องมือกี่ชนิด ราคาเท่าไหร่ ต้องลงทุนไปจนถึงเครื่องมือ Data Visualization หรือไม่ แต่ต้องหาจุดที่เหมาะสมที่สุดให้กับธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีต้นทุนในการใช้งานและจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการทำการบ้านในการใช้และทดลองเครื่องมือให้เหมาะกับ Data ของเราเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากๆในการทำ Data Driven

3.หา หรือ สร้างคนในองค์กรที่มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล – 1 ในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการทำ Data Driven นั่นก็คือการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นในฐานะองค์กรจำเป็นอย่างมากที่จะต้องหาใครสักคนที่จะต้องมารับผิดชอบงานในด้านนี้ และมีความจำเป็นอย่างมากเช่นเดียวกันว่าคนคนนั้นที่จะมารับผิดชอบงานนี้จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง สำหรับคนที่จะมาทำงานตรงนี้ได้ก็อาจจะมีอยู่หลายตำแหน่งแตกต่างกันไปเช่น Data Analyst, Data Scientist หรือ Data Engineer ซึ่งจะเห็นได้ว่าความต้องการและรายได้ของอาชีพเหล่านี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเติบโตของ Data Driven

4.สร้าง Data Driven Workflow – สำหรับขั้นตอนนี้จริงๆจะใกล้เคียงกับองค์ประกอบข้อสุดท้ายคือการ สร้าง Data Driven Strategies และ Data Driven Process เพราะการสร้าง Data Driven Workflow นั้นจะทำให้เกิดการตัดสินใจด้วย Data ในทุกๆระดับขั้นของการทำงานได้อย่างดีที่สุด แต่ในรายละเอียดของ Workflow นั้นจะแตกต่างกันไปตามลักษณะองค์กร เช่น บางองค์กรอาจจะต้องมีการเก็บและทำงานผ่านระบบ CRM เดียวกันที่ถังกลาง แต่บางองค์กรอาจจะใช้การทำงานแยกกันตามระบบ CRM ของแต่ละฝ่ายแต่รายงานผลกลับไปที่ Dashboard เดียวกันแทน

อนาคตของ Data Driven

ในปัจจุบันหากนับย้อนไป 5 ปี เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่เกิดขึ้นกับโลกของข้อมูล จากการใช้งานที่เคยทำได้ยากก็ถูกทำให้ง่าย เข้าถึงได้สะดวก มีต้นทุนที่ต่ำลง แตกต่างกับจำนวนของข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่สิ่งนึงที่เพิ่มมาพร้อมกับจำนวนนั่นก็คือ ข้อจำกัด หรือ ข้อกำหนดในการใช้งานนั่นเองดังที่เราจะเห็นได้จากกฏหมาย PDPAGDPR หรือ ข้อกำหนดในการใช้ข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่า เราจะต้องมีการขอสิทธิ และ ระบุรายละเอียดอย่างถูกต้องก่อนการนำข้อมูลไปใช้ ดังนั้นในฐานะองค์กรเองแล้วนอกจากการออกแบบสภาพแวดล้อมของการใช้ข้อมูลให้ถูกใจแล้วยังต้องใช้ข้อมูลให้ถูกต้องอีกด้วย

สรุป

การสร้าง Data Driven ให้เกิดประโยชน์นั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเน้นไปที่ 3 ปัจจัยหลักที่ผู้เขียนได้กล่าวไปคือ การเก็บ Data และนำไปวิเคราะห์, การใช้ข้อมูลในการตัดสิน และ สุดท้ายคือการสร้าง Data Driven Process เพราะปัจจัยเหล่านี้นี่เองจะสอดคล้องกับขั้นตอนในการสร้าง Data Driven ของทุกๆองค์กร และ ที่สำคัญที่สุดก็คือ No one size fits all ไม่มีแบบแผนหรือวิธีการใดที่เหมาะกับทุกองค์กรและทุกธุรกิจ ดังนั้นการทดลองและหา Data Driven Structure ที่เหมาะสมที่สุดกับตัวเองก็ถือเป็น 1 ในขั้นตอนที่สำคัญอย่างมากเช่นกัน และในอนาคตข้อกำหนดทางด้านความปลอดภัยจะเข้ามาเป็นมาตรฐานของการใช้ข้อมูลอย่างแน่นอน ดังนั้นก็ขอให้ทุกท่านใช้ข้อมูลกันอย่าง ถูกทาง ถูกใจ และ ถูกต้องนะครับ