เปิด 5 Insights อสังหาฯ จาก Social Listening ที่จะช่วยทำให้คุณรู้จักผู้บริโภคดีขึ้น
อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่า Insight ของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา รวมถึงอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน โดยวิธีการหา Insight ของผู้บริโภคก็สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การ Survey การ Interview หรือการใช้ Social Listening ในการรวบรวมเสียงผู้บริโภคออนไลน์ เป็นต้น
โดยครั้งนี้เพื่อให้แบรนด์เข้าใจ Insight ของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลา เพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาต่อยอดโครงการ รวมไปถึงพัฒนาไอเดียและวิธีการสื่อสารให้เข้าถึงพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น ทาง RealSmart จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากผู้บริโภคที่พูดคุยและมีส่วนร่วมในโลกออนไลน์ ด้วยการใช้ Social Listening และ Search Trend มาวิเคราะห์หา Insight ของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ปี 2023 ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อได้ดังนี้
Design Insight รูปแบบบ้านที่เป็นที่นิยมในปี 2023
Location Insight “ทำเล” ยอดนิยมสำหรับกลุ่มบ้านเดี่ยวและคอนโด
Social Media Insight ช่องทางการเสพสื่อยอดนิยมสำหรับกลุ่มแบรนด์อสังหาฯ
Generation Insight การเลือกอยู่ในบ้านของกลุ่มผู้ใช้รุ่น Gen Y และรุ่น Gen Z
Financial Insight คนรุ่นใหม่ไหวแค่ไหนกับการซื้อบ้าน
1. Design Insight รูปแบบบ้านที่เป็นที่นิยมในปี 2023
ทุกท่านเคยสังเกตมั้ยคะ ว่าเมื่อเราเข้าไปดูโพสต์บน Social Media ที่เกี่ยวข้องกับบ้านต่าง ๆ ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นว่าบ้านที่เป็นที่นิยมสูง ๆ มักจะเป็นบ้านสไตล์มินิมอล แต่จริง ๆ แล้วเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่? วันนี้ RealSmart ได้หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ
เพื่อให้รู้ลึกถึง Insight ความชอบของผู้บริโภค ครั้งนี้เราได้ใช้ระบบ Social Listening และระบบ AI ในการช่วยวิเคราะห์รูปแบบบ้านจากโพสต์ทั้งหมดกว่า 1,200 โพสต์ จาก 20 เพจในอุตสาหกรรม ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า Insight ที่น่าสนใจจากการแชร์ต่อของชาวโซเชียล คือ บ้านสไตล์ Modern, Minimal และ Contemporary โดยที่น่าสนใจคือสไตล์ Modern ในช่วงต้นปี 2023 นั้นได้รับความนิยมมากขึ้น โดยได้รับการแชร์รวมทั้งหมดกว่า 85,000 ครั้ง เติบโตขึ้น 36% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ในปี 2022
ตัวอย่างภาพบ้านสไตล์ Modern
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ บ้านและสวน และ บ้านและสวนไอเดีย
โดยสไตล์ที่มาแรงสุดในกลุ่ม Modern คือ Modern Tropical ที่มีการแชร์เติบโตขึ้นกว่า 300% เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมี Design อื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมคือ สไตล์ Farm House และ Nordic ที่แม้ว่าจะไม่ได้มียอดแชร์สูงเท่าสไตล์ Modern เพราะมีการแชร์อยู่ระดับหลัก 10,000 เท่านั้น แต่ถ้าดูในด้านการเติบโต เราพบว่ามีการแชร์เพิ่มสูงขึ้น 260% และ 200% ตามลำดับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเติบโตที่น่าสนใจเลยทีเดียว
ตัวอย่างภาพบ้าน Modern Tropical
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ SpaceStory และ บ้านและสวน
หากแบรนด์ไหนกำลังมองหาไอเดียในการสร้างโครงการใหม่ ๆ ให้ได้ใจผู้บริโภค ก็ลองเอาข้อมูลนี้ไปประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติมได้นะคะ 🙂
2. Location Insight “ทำเล” ยอดนิยมสำหรับกลุ่มบ้านเดี่ยวและคอนโดมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงอสังหาริมทรัพย์ เราจะขาดเรื่อง Location หรือ ทำเล ไปไม่ได้ ในครั้งนี้ทีมได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการค้นหาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ “บ้านเดี่ยว” และ “คอนโด” เพื่อดูว่าทำเลไหนที่ได้รับความสนใจและมี Intent ในการค้นหาสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2023 เพื่อเป็นไอเดียสำหรับกับแบรนด์ในการสำรวจความต้องการอสังหาฯ ต่าง ๆ ได้นั่นเอง
เริ่มที่กลุ่ม “บ้านเดี่ยว” มีจำนวนการค้นหาในช่วงต้นปี มีจำนวนประมาณ 167,000 ครั้งต่อเดือน ซึ่งลดลงเล็กน้อย เพียง 5% เมื่อเทียบกับปี 2022
เมื่อมาดูในส่วนของทำเล แม้ว่า “ทำเล” ที่มีคนค้นหาคู่กับบ้านเดี่ยวสูงสุดคือ บางนา, รามอินทรา, พระราม 2 แต่โดยภาพรวมทำเลที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มนี้คือ “บางแค” ที่ในปีนี้มีการค้นหาสูงขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปี 2022 ตามด้วย “กรุงเทพกรีฑา” และ “ใกล้ฉัน” ซึ่งเป็น ทำเลที่มีการค้นหาเพิ่มทุกปีนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา จึงเป็นแนวโน้มทำเลที่คนให้ความสนใจเพิ่มขึ้น
ในขณะที่กลุ่มคอนโด ในต้นปี 2023 มีการค้นหาประมาณ 539,000 ครั้ง ซึ่งจำนวนยังใกล้เคียงกับช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2021 ประมาณ 3.6% ซึ่งแสดงให้เห็นมีความสนใจเพิ่มเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงโควิดที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของทำเลเองก็พบ Insight ที่น่าสนใจดังนี้
ทำเลคอนโดที่คนค้นหามากที่สุดในช่วง 2021 – 2023 คือ “สุขุมวิท” “แจ้งวัฒนะ” พระราม 9” แต่ทำเลที่มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องช่วง 2 ปีนี้คือ “ห้วยขวาง” และ “บางนา” นอกจากนี้อีกหนึ่ง Keyword ที่สำคัญคือ “ใกล้ฉัน” ที่เห็นได้ว่าเติบโตมากที่สุดเมื่อเทียบกับทำเลอื่น ๆ
ภาพแสดงการค้นหา ทำเลที่น่าสนใจของคอนโด ช่วงระหว่างปี 2021 – 2023
และเมื่อเราพูดถึงคอนโด อีกประเด็นที่น่าสนใจที่คงไม่พูดไม่ได้ก็คือ เรื่องรถไฟฟ้านั่นเอง หลายคนอาจสงสัยว่าในช่วงที่หลาย ๆ บริษัทให้นโยบาย Hybrid Workplace หรือให้ Work from home อยู่ แล้ว คอนโด ใกล้รถไฟฟ้า / MRT ยังคงได้รับความสนใจหรือไม่? เราลองมาหาคำตอบเรื่องนี้กันค่ะ
จากกราฟข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า มีการค้นหาคอนโดคู่กับคำว่า “รถไฟฟ้า” ในช่วงปี 2022 – 2023 น้อยลงกว่าปี 2021 แต่กลับมีการค้นหาคู่กับ “BTS” เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า ผู้คนยังสนใจค้นหาคอนโด คู่กับ BTS อยู่นั่นเอง และเมื่อเราดูใน Social Media เราก็พบว่ามีการแนะนำการซื้อคอนโดติดรถไฟฟ้า / MRT ที่มีการแชร์ต่อประมาณ 9,000 ครั้ง และมีการ Bookmarks โพสต์เก็บไว้ถึง 1,200 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนค่อนข้างสนใจคำแนะนำดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นสำหรับแบรนด์ที่มีโครงการที่ใกล้ BTS / MRT ก็สามารถใช้ข้อมูลส่วนนี้ในการวางแผนการใช้ Keyword ในการทำคอนเทนต์หรือโฆษณาให้ตรงกับการค้นหาของกลุ่มเป้าหมายได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อเรามาดู Keyword ย่อย ๆ เราพบ Insight ที่น่าสนใจว่า Keyword “คอนโด ติด รถไฟฟ้า” ในต้นปีนี้ได้รับความสนใจสูงสุด และมีการเติบโตสูงขึ้นใกล้เคียงกับปี 2021 สาเหตุที่มีการค้นหาเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้ว ทั้งนี้จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าจะสถานการณ์ไหน คนยังคงให้ความสนใจคอนโดที่ติดรถไฟฟ้ามากที่สุด ไม่ใช่แค่ “ใกล้” ดังนั้นนี่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของแบรนด์ที่มีโครงการติดรถไฟฟ้าอยู่แล้ว ในการโปรโมทโครงการ หรือสำหรับแบรนด์ที่กำลังพัฒนาโปรเจคใหม่ ๆ ก็ลองดูข้อมูลนี้เป็นแนวทางเบื้องต้นได้เช่นกัน
3. Social Media Insight ช่องทางการสื่อสารยอดนิยมสำหรับกลุ่มแบรนด์อสังหาฯ
ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2023 ที่ผ่านมา เมื่อเราสำรวจดูช่องทาง Social Media ของแบรนด์ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ กว่า 30 แบรนด์ โดยรวบรวมข้อมูลจาก Social Listening เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์หาว่า ช่องทางไหน เป็นช่องทางที่แบรนด์ควรโฟกัสในปี 2023 นี้ ซึงเราพบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
- ช่องทาง Facebook ยังเป็นช่องทางที่แบรนด์ต่าง ๆ Active มากที่สุด โดยมีโพสต์เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 69 โพสต์ต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนเท่าเดิมกับไตรมาส 4 ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราการมีส่วนร่วม (Engagement Rate) อยู่ที่ 0.2% ซึ่งเฉลี่ยแล้วเทียบเท่ากับช่องทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Twitter, Instagram และ YouTube
- แม้ว่าในภาพรวมในต้นปี 2023 อัตราการมีส่วนร่วม (Engagement Rate) ของทุกแบรนด์จะลดลงทุกช่องทาง แต่เราพบว่า TikTok เป็นช่องทางที่โดดเด่นมาก เพราะเป็นช่องทางเดียวที่สามารถสร้างอัตราการมีส่วนร่วมได้สูงถึง 16% ซึ่งแม้ว่าฐานผู้ติดตามของแบรนด์ในช่องทางนี้ ยังน้อยกว่าช่องทาง Social Media อื่น ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า TikTok เป็นช่องทางที่เหมาะกับการลงทุนในปี 2023 นี้ เพราะด้วยสัดส่วนต่อโพสต์ที่น้อยกว่าโดยมีการโพสต์เพียง 7 โพสต์ต่อเดือน แต่สามารถสร้าง Impact ให้กับแบรนด์ได้สูงกว่าช่องทางอื่น ๆ นั่นเอง
ดังนั้นอาจถึงเวลาที่แบรนด์ต้องพิจารณาปรับสัดส่วนการโฟกัสคอนเทนต์จาก Facebook มาที่ TikTok บ้าง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้นั่นเอง หรือหากยังไม่มีไอเดีย อาจลองพิจารณาเป็น Influencer กลุ่มอสังหาฯ ก็เป็นตัวเลือกที่ดีนะคะ ซึ่งเราได้รวบรวมไว้ให้แล้วเช่นกัน ในบทความ เจาะลึก 10 TikToker สายอสังหาฯ มาแรง น่าจับตามอง 2023
4. Generation Insight การเลือกอยู่ในบ้านของกลุ่มผู้ใช้รุ่น Gen Y และรุ่น Gen Z
ปัจจัยการเลือกบ้านที่ของกลุ่ม Gen Y ที่มีการพูดคุยใน Social Media พบว่าบ้านในฝันสำหรับพวกเขา คือ “บ้านมินิมอล” และ สิ่งที่ระบุเพิ่มเติมคือ “ต้องการความเป็นส่วนตัว”
โดยเมื่อมีการสอบถามความคิดเห็นว่า บ้านในฝันของพวกเขาเป็นอย่างไร เราพบกว่ากลุ่ม Gen Y เกือบทั้งหมดได้แชร์รูปบ้านที่มีความคล้ายคลึงกัน โดยลักษณะบ้านที่พวกเขาแชร์ คือ บ้านสไตล์ “มินิมอล” นั่นเอง
แม้ว่าในกลุ่ม Gen Y นั้นจะมีการระบุความต้องการในการอยู่ทั้งบ้านและคอนโด แตกต่างไปตาม Lifestyle ของแต่ละคน ทำให้ระบุได้ยากว่าพวกเขาสนใจที่อยู่อาศัยแบบไหนมากกว่ากัน แต่เรากลับได้พบ Insight ที่น่าสนใจคือมีกลุ่ม Gen Y วัยกลางคนหลายคนที่ยังโสด และยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ที่อาจต้องการพื้นที่ส่วนตัวและอิสระในการใช้ชีวิต แต่ไม่สามารถแยกออกจากครอบครัวได้ โดยทวีตดังกล่าวสร้างการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียได้สูงถึง 30,000 Engagement ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นในมุมของแบรนด์เองอาจลองใช้ Keyword ที่เกี่ยวข้องกับ อิสระ / การใช้ชีวิต / การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในการเข้าถึงกลุ่ม Gen Y คนโสดเพื่อช่วยกระตุ้นซื้อที่อยู่อาศัยได้
ต่อมา ในกลุ่ม Gen Z ประเด็นที่สำคัญสำหรับกลุ่มนี้คือ “ทำเล” และ “ราคา” โดยเป็นสองสิ่งหลักที่พวกเขามักจะพูดและถามถึงในโซเชียลมีเดีย โดยมีความแตกต่างจาก Gen Y คือผลิตภัณฑ์ที่กลุ่ม Gen Z มักพูดถึงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม “คอนโด”
สำหรับ “ทำเล” เราพบ Insight เพิ่มเติมของกลุ่มนี้ว่านอกจากต้องการการเดินทางที่สะดวกแล้ว กลุ่ม Gen Z ยังมีความลังเลอยู่สูง เนื่องจากยังคงมีความไม่มั่นใจกับลงหลักปักฐาน เพราะเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ดังนั้น “ทำเล” ที่อยู่อาศัยจึงมีความสัมพันธ์กับการเลือกสถานที่ทำงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นที่สิ่งที่พวกเขามักจะนำมาพิจารณาเป็นแกนหลักอยู่เสมอนั่นเอง
ในขณะที่ “ราคา” เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้พวกเขาตัดสินใจเลือกเข้าชมหรือมีส่วนร่วมได้ดี เช่น โพสต์ชมห้องตัวอย่างคอนโดแห่งหนึ่ง ราคา 1,200,000 บาท บอกแค่รายละเอียดการผ่อน และค่าส่วนกลาง แต่กลับได้รับการ Retweet สูงถึง 30,000 ครั้ง หรืออย่างโพสต์ของ Influencer Gen Z รีวิวคอนโดมหิดล ศาลายา และมีการเข้าชมสูงถึง 400,000 ครั้งใน TikTok โดยคำถามที่เข้ามาถามเกือบทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับราคาเป็นหลักมากกว่ารายละเอียดอื่น ๆ จึงเป็นไปได้ว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่กลุ่ม Gen Z โฟกัสเป็นอันดับแรก ๆ นั่นเอง
คำแนะนำ : สำหรับกลุ่มนี้ แบรนด์ควรสื่อสารให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นโครงการที่พวกเขาจับต้องได้ หรือเสริมโปรโมชั่นที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ฟรีค่าส่วนกลาง 1 ปี เป็นต้น ก็น่าจะมีส่วนช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มนี้ สนใจโครงการได้ดียิ่งขึ้น
5. Financial Insight คนรุ่นใหม่ไหวแค่ไหนกับการซื้อบ้าน
นอกจากเรื่องของดีไซน์ ความชอบ ทำเลแล้ว อีกส่วนสำคัญที่สำคัญไม่แพ้กันคงเป็นเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังกลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ สำหรับข้อนี้เราพบประเด็นที่น่าสนใจว่าผู้บริโภครุ่นใหม่รู้สึกว่า การเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัว และรู้สึกเกินเอื้อม โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ซึ่ง Topic ดังกล่าวถูกมองเห็นมากกว่า 1.7 ล้านครั้ง และคนแชร์ต่อสูงกว่า 57,000 ครั้งเลยทีเดียว ซึ่งเรายังพบอีกหลาย Topic ที่แสดงให้เห็นถึงภาระและความกังวลในการแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเป็นเจ้าของอสังหาฯ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้เรายังพบ Topic ขอคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ซื้อบ้านสำหรับคนที่กำลังสร้างตัว เราพบว่าหลายความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ไม่สนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยมากนักหากไม่จำเป็น เพราะมองบ้าน = ภาระ และมีค่าใช้จ่ายจิปาถะตามมามากมาย และด้วยสภาวะค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นก็มีส่วนอย่างมากในการทำให้พวกเขารู้สึกว่าการเป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโด เป็นเรื่องไกลตัวนั่นเอง
ตัวอย่างความคิดเห็นบางส่วน
“ใช้ชีวิตก่อนค่ะ เพราะภาระ ทำให้ ใช้ชีวิตไม่สนุกเลย”
“ที่อยู่อาศัยถ้าเงินไม่มีเก็บมากนัก ให้เช่าค่ะ เกิดวิกฤตอะไรขึ้นมายังหาทางขยับได้”
“ถ้าอยู่ตัวคนเดียวอย่าเพิ่งซื้อบ้าน เช่าเอาดีกว่า เช่ายังไงก็ถูกกว่าผ่อน เก็บเงินสดไว้อย่าไปเสียให้ดอกเบี้ย”
“ขออนุญาตแนะนำในรูปแบบของมนุษย์เงินเดือนนะคะ สำหรับคนที่กำลังสร้างตัวยังไม่แนะนำให้มีรถหรือมีบ้านเลย (ถ้าไม่จำเป็น) ยุคนี้มีเงินใช้ถึงสิ้นเดือนก็เก่งแล้วค่ะ แนะนำให้เก็บเงินไว้ก่อนค่ะ”
“ไทยบ้านคือสิ่งที่แพงมาก เพราะต้องผ่อนบ้านราคา1m ต่อ 7k ถ้าบ้าน3m ต้องจ่าย 21k ทุกเดือน20 ปี การซื้อบ้านยากมาก”
แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่แบรนด์รู้ถึงความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลา ก็น่าจะเป็นส่วนช่วยให้แบรนด์เข้าใจความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น และคงต้องเป็นหน้าที่ของแบรนด์ในการทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าพวกเขาสามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้โดยที่ยังสามารถใช้ชีวิตได้โดยที่พวกเขายังสามารถสนุกกับการใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม
เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับเนื้อหาในตอนนี้ที่ทาง RealSmart ได้รวบรวมการฟังเสียงผู้บริโภคออนไลน์มาสรุปและวิเคราะห์เป็น Insight ในวงการอสังหาฯ มาอัปเดตให้ทุกท่านได้รู้กัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านไม่มากก็น้อยนะคะ อย่างไรก็ตามที่เรากล่าวไปข้างต้นเป็น เพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่าลืมว่าพฤติกรรมและความสนใจของผู้บริโภคมีโอกาสปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ดังนั้นแบรนด์จึงควรสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ทุกท่านรู้จักกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นก็คือ Social Listening นั่นเอง และหากแบรนด์ไหนต้องการ Insight ที่เจาะลึกเพิ่มเติม ทาง RealSmart ยินดีที่จะเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยรวบรวมเสียงผู้บริโภคจริงบนโลกออนไลน์ มาสรุป วิเคราะห์ และเปลี่ยนให้เป็น Insight ที่เป็นประโยชน์เฉพาะแบรนด์คุณ
สำหรับบทความถัดไป ทาง RealSmart จะนำเรื่องราวที่น่าสนใจอะไรมาฝาก อย่าลืมติดตามกันนะคะ