Skip links

โครงการสวนผักคนเมือง

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา และศูนย์อบรมเกษตรในเมือง ตั้งแต่เมษายนปี 2553 – ปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เป้าประสงค์

1. ยกระดับการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของประชากรในเมืองใหญ่ ผ่านการสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สร้างอาหารขนาดเล็กและขนาดกลางในเขตเมือง อาทิ การเพาะปลูกผัก ผลไม้ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร รวมถึงสนับสนุนการกระจายอาหารและการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2. เพิ่มพื้นที่อาหารปลอดภัยให้กับเมือง ผ่านการสร้างพื้นที่รูปธรรมเกษตรในเมืองหลากหลายรูปแบบ บนฐานของการมีส่วนร่วมของประชากรในเมือง เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างเปล่าให้เมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรในเมือง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบอาหารยั่งยืนในทุกระดับ ภายใต้สโลแกน ‘ปลูกเมือง ปลูกชีวิต’ ที่มีเป้าหมายมุ่งส่งเสริมให้ประชากรในเมืองทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น พัฒนาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาพื้นที่ทางสังคมอื่นๆ

กลไก / กระบวนการ

1. ขับเคลื่อนแนวคิดเกษตรในเมืองและส่งมอบองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการพึ่งพาตนเองด้านอาหารผ่านศูนย์อบรม ศูนย์เรียนรู้ และพื้นที่ต้นแบบการทำเกษตรในเมืองจำนวน 20 แห่ง ซึ่งมีหลักสูตรเรียนรู้เรื่องเกษตรในเมืองกว่า 20 หลักสูตร
2. สนับสนุนทุนขนาดเล็กให้กลุ่มบุคคล ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำเกษตรในเมือง อาทิ สวนผักชุมชน สวนผักโรงเรียน สวนผักโรงพยาบาล สวนผักในหน่วยงาน สวนผักบนพื้นที่รกร้าง และบนพื้นที่ที่แบ่งปันกัน หรือ Land Sharing รวมถึงพื้นที่ที่นำสวนผักไปเชื่อมโยงมิติต่าง ๆ เช่น สวนผักกับการบำบัดเยียวยา สวนผักกับการสร้างพื้นที่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของสังคม และสวนผักกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ปัจจุบันเกิดพื้นที่อาหารของเมืองกว่า 400 แห่งแล้วในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชลบุรี ขอนแก่น สงขลา พัทลุง และเชียงใหม่
3. สร้างพื้นที่เชื่อมโยงและกระจายอาหารปลอดภัย อาทิ City Farm Market (FB Page : City Farm Market ) ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2562 มีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่กระจายอาหารทางเลือกให้กับประชากรในเมือง ผ่านการจัดตลาดกระจายสินค้าอาหารปลอดภัยจากทั้งเครือข่ายสวนผักคนเมือง และเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ทั่วประเทศไทย
4. จัดกิจกรรมประจำปีเพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนและเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จริงในการทำเกษตรในเมือง ซึ่งเชื่อมโยงและนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย อาทิ เทศกาลสวนผักคนเมือง งานเสวนาวิชาการเกษตรแขนงต่าง ๆ กิจกรรมทัวร์สวนผักคนเมือง เทศกาลข้าวใหม่ ฯลฯ
5. สร้างความร่วมมือและจัดกิจกรรมช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง อาทิ คนจนเมือง ให้เข้าถึงอาหารปลอดภัย ผ่านเครื่องมือการทำงานที่หลากหลาย หนึ่งในนั้น คือ โครงการปันอาหาร ปันชีวิต ซึ่งนำเงินบริจาคมาซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อย และส่งมอบอาหารเหล่านั้นให้กับคนจนเมือง

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

เกษตรในเมืองนั้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญซึ่งจะช่วยพัฒนาเมืองให้มีระบบอาหารที่ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองให้ดีขึ้นกว่าเดิมซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาในด้านเกษตร อาหาร สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อรับมือกับปัญหาด้านความมั่นคงด้านอาหารและความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากหลายปัจจัย

ปีที่เริ่มโครงการ

2553 (13ปี)

Followers

52,000 followers